บทเรียนการ “ทุ่มงบ-พัฒนา” ที่ไร้ผลแก้ปัญหาความไม่สงบ

บทความชิ้นนี้เป็นบทความแปลเกี่ยวกับประสบการณ์จากสงครามสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐในอัฟกานิสถาน ชื่อบทความเดิมคือ “สงครามจิตวิทยามวลชนบนความเพ้อฝัน” (A weapons system based on wishful thinking) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2552 โดย แอนดรูว์ ไวล์เดอร์ (Andrew Wilder) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Feinstein International Center มหาวิทยาลัย Tufts University  ซึ่งน่าจะเป็นข้อคิดอย่างดีสำหรับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยที่กำลังทุ่มงบ เร่งงานพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์ ‘คู่มือผู้บัญชาการเพื่อใช้เงินเป็นอาวุธ’ (Commander’s Guide to Money as a Weapons System) ซึ่งเป็นคู่มือที่ให้คำแนะนำในการใช้งบประมาณด้านการพัฒนาเพื่อให้ได้รับ ความสนับสนุนจาก ‘ประชาชนในท้องถิ่นในความพยายามที่จะเอาชนะผู้ก่อความไม่สงบ’

ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนการที่จะเพิ่มงบพัฒนาเป็นเกือบสองเท่า (จำนวน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งจะเป็นงบประมาณหลักที่เหล่าผู้บัญชาการทหารในอัฟกานิสถานใช้เพื่อสนับ สนุนโครงการที่มุ่ง ‘เอาชนะจิตใจของประชาชน’

คู่มือฉบับนี้และการเพิ่มเงินช่วยเหลือจำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญของ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อความไม่สงบของสหรัฐฯ โดยตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าโครงการพัฒนาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรียน สถานีอนามัย และถนน จะสามารถเอาชนะจิตใจของประชาชนชาวอัฟกานิสถานได้ ทำให้พวกเขามีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของตนเองมากขึ้น และไม่หันไปสนับสนุน ‘กลุ่มตาลีบัน’ ฟังดูก็มีเหตุผลดี แต่ปัญหาก็คือที่ผ่านมาแทบไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนความคิดเช่นนี้

ในปีที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานและผมได้สัมภาษณ์ประชาชนชาวอัฟกานิสถานกว่า 400 ครั้ง เพื่อค้นหาว่าประโยชน์ที่ได้รับจากงบประมาณเพื่อการพัฒนาหลายพันล้านเหรียญ เหล่านี้ตกไปถึงใครบ้างในประเทศนี้ แม้ว่าโครงการจำนวนมากจะทำให้เกิดผลประโยชน์ด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาอย่าง ชัดเจน แต่เราแทบไม่พบหลักฐานเลยว่าโครงการช่วยเหลือดังกล่าวจะสามารถ ‘เอาชนะจิตใจของประชาชนได้’ ทั้งไม่ได้ช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรง และไม่มีประโยชน์มากนักต่อการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ

อันที่จริง ผลจากการศึกษาของเรากลับได้ข้อมูลในทางตรงข้าม แทนที่จะเอาชนะจิตใจประชาชนได้ ชาวบ้านที่อัฟกานิสถานกลับมีภาพในด้านลบอย่างมากต่อความช่วยเหลือและผู้ให้ ความช่วยเหลือเหล่านี้ แทนที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ ในหลายกรณีเงินช่วยเหลือเหล่านี้กลับส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความไร้ เสถียรภาพ ยกตัวอย่างเช่น เราได้รับรายงานหลายครั้งว่ากลุ่มตาลีบันได้รับการว่าจ้างจากผู้รับเหมาที่ รับเงินงบประมาณช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อว่ากลุ่มตาลีบันจะให้ความคุ้มครอง (หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย) ในระหว่างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างถนน

ในสังคมที่มีการแบ่งแยกด้านชาติพันธุ์และเผ่าพันธุ์อย่างเช่นอัฟกานิสถาน เงินช่วยเหลือมักจะทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาและความไม่ประสงค์ดี และยังทำให้บางเผ่าหรือบางกลุ่มมีอำนาจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามต้องไปหันไปเข้าข้างเดียวกับกลุ่มตาลีบัน
ในจังหวัด Urozgan ทางตอนใต้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานคนหนึ่งบอกกับผมว่า ‘ใน พื้นที่นี้ คนที่เป็นเครือญาติและเพื่อนฝูงกับตระกูลคาร์ไซ (ครอบครัวของประธานาธิบดีแห่งอัฟกานิสถาน – ผู้แปล) จะได้รับผลประโยชน์ทุกอย่าง เงินช่วยเหลือจึงทำให้กลุ่มของพวกเขามีอำนาจมากขึ้น พวกเขาเป็นกลุ่มที่ฉ้อฉลและโหดร้าย แต่ผู้ให้ทุนก็ยังคงสนับสนุนพวกเขาต่อไป’

ผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากเงินช่วยเหลือด้าน การพัฒนา ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ และส่งผลให้รัฐบาลมีความชอบธรรมน้อยลง งานศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถเอาชนะจิตใจของชาวอัฟกานิสถานได้ ไม่ใช่เพราะเราทุ่มเงินลงไปน้อยเกินไป แต่เพราะเราทุ่มเงินลงไปมากเกินไปและเร็วเกินไป โดยเฉพาะในสภาพที่ยังไม่มีความมั่นคง และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินงานตามโครงการน้อยมาก ทั้งไม่มีการกำกับดูแลที่ดีพอ

ที่สำคัญ สาเหตุหลักของปัญหาด้านความมั่นคงที่ชาวอัฟกานิสถานบอกต่อเราในระหว่างการ สัมภาษณ์ ไม่ใช่เรื่องของความยากจนหรือขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ และไม่ใช่กลุ่มตาลีบัน แต่กลับเป็นตัวรัฐบาลที่ฉ้อฉลและไม่สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ในจังหวัด Paktia ซึ่งมีทีมบูรณปฏิสังขรณ์ระดับจังหวัดที่นำโดยสหรัฐฯ และมีการให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาตั้งแต่ปี 2546 ผู้นำอาวุโสของชนเผ่าในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ‘Paktia มีปัญหามากมาย แต่ปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่การขาดแคลนสถานีอนามัย โรงเรียน หรือถนน ปัญหาหลักก็คือเราไม่มีรัฐบาลที่ดี…ถ้าไม่มีรัฐบาลที่สะอาด ก็เท่ากับเงินหลายล้านเหรียญกำลังถูกปล้นไป แม้จะเพิ่มเงินเข้ามาอีกมันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะรัฐบาลก็จะปล้นเงินไปอีกอยู่ดี มีช่องว่างมากขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายความมั่นคงในพื้นที่นี้’

กลุ่มตาลีบันใช้ประโยชน์จากความรู้สึกดังกล่าว และพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการของตนเอง พวกเขาสัญญาว่าจะเร่งรีบทำให้เกิดความมั่นคง ความยุติธรรมที่เร็วขึ้น และให้มีรัฐบาลที่คอร์รัปชั่นน้อยลง แทนที่จะมุ่งสร้างถนน โรงเรียน และสถานีอนามัย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศผู้ให้ทุนอื่นๆ ควรหยุดสนับสนุนโครงการพัฒนาในอัฟกานิสถาน เพียงแต่ว่าการให้ทุนช่วยเหลือจากต่างชาติควรเน้นการส่งเสริมวัตถุประสงค์ ด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาในกรณีที่มีหลักฐานว่าจะสามารถทำเช่นนั้นได้จริง แทนที่จะมุ่งส่งเสริมวัตถุประสงค์ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เป็นปัญหาในพื้นที่นั้น หากไม่มีหลักฐานอื่นๆ ที่สนับสนุน รัฐบาลสหรัฐฯ ควรหยุดตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในโครงการใช้เงินเพื่อเอาชนะจิตใจประชาชน ซึ่งเป็นเพียงความคิดเพ้อฝัน และเกิดจากโมหะคติที่มองว่าสามารถใช้เงินเพื่อซื้อจิตใจของประชาชนชาว อัฟกานิสถานได้”

————————————-

หมายเหตุ
1. อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ใน http://www.boston.com/bostonglobe/editorial_opinion/oped/articles/2009/09/16/a_weapons_system_based_on_wishful_thinking?mode=PF

Leave a comment