บทเรียนการ “ทุ่มงบ-พัฒนา” ที่ไร้ผลแก้ปัญหาความไม่สงบ

November 25, 2009

บทความชิ้นนี้เป็นบทความแปลเกี่ยวกับประสบการณ์จากสงครามสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐในอัฟกานิสถาน ชื่อบทความเดิมคือ “สงครามจิตวิทยามวลชนบนความเพ้อฝัน” (A weapons system based on wishful thinking) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2552 โดย แอนดรูว์ ไวล์เดอร์ (Andrew Wilder) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Feinstein International Center มหาวิทยาลัย Tufts University  ซึ่งน่าจะเป็นข้อคิดอย่างดีสำหรับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยที่กำลังทุ่มงบ เร่งงานพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์ ‘คู่มือผู้บัญชาการเพื่อใช้เงินเป็นอาวุธ’ (Commander’s Guide to Money as a Weapons System) ซึ่งเป็นคู่มือที่ให้คำแนะนำในการใช้งบประมาณด้านการพัฒนาเพื่อให้ได้รับ ความสนับสนุนจาก ‘ประชาชนในท้องถิ่นในความพยายามที่จะเอาชนะผู้ก่อความไม่สงบ’

ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนการที่จะเพิ่มงบพัฒนาเป็นเกือบสองเท่า (จำนวน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งจะเป็นงบประมาณหลักที่เหล่าผู้บัญชาการทหารในอัฟกานิสถานใช้เพื่อสนับ สนุนโครงการที่มุ่ง ‘เอาชนะจิตใจของประชาชน’

คู่มือฉบับนี้และการเพิ่มเงินช่วยเหลือจำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญของ ยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อความไม่สงบของสหรัฐฯ โดยตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าโครงการพัฒนาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรียน สถานีอนามัย และถนน จะสามารถเอาชนะจิตใจของประชาชนชาวอัฟกานิสถานได้ ทำให้พวกเขามีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของตนเองมากขึ้น และไม่หันไปสนับสนุน ‘กลุ่มตาลีบัน’ ฟังดูก็มีเหตุผลดี แต่ปัญหาก็คือที่ผ่านมาแทบไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนความคิดเช่นนี้

ในปีที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานและผมได้สัมภาษณ์ประชาชนชาวอัฟกานิสถานกว่า 400 ครั้ง เพื่อค้นหาว่าประโยชน์ที่ได้รับจากงบประมาณเพื่อการพัฒนาหลายพันล้านเหรียญ เหล่านี้ตกไปถึงใครบ้างในประเทศนี้ แม้ว่าโครงการจำนวนมากจะทำให้เกิดผลประโยชน์ด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาอย่าง ชัดเจน แต่เราแทบไม่พบหลักฐานเลยว่าโครงการช่วยเหลือดังกล่าวจะสามารถ ‘เอาชนะจิตใจของประชาชนได้’ ทั้งไม่ได้ช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรง และไม่มีประโยชน์มากนักต่อการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ

อันที่จริง ผลจากการศึกษาของเรากลับได้ข้อมูลในทางตรงข้าม แทนที่จะเอาชนะจิตใจประชาชนได้ ชาวบ้านที่อัฟกานิสถานกลับมีภาพในด้านลบอย่างมากต่อความช่วยเหลือและผู้ให้ ความช่วยเหลือเหล่านี้ แทนที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ ในหลายกรณีเงินช่วยเหลือเหล่านี้กลับส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความไร้ เสถียรภาพ ยกตัวอย่างเช่น เราได้รับรายงานหลายครั้งว่ากลุ่มตาลีบันได้รับการว่าจ้างจากผู้รับเหมาที่ รับเงินงบประมาณช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อว่ากลุ่มตาลีบันจะให้ความคุ้มครอง (หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย) ในระหว่างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างถนน

ในสังคมที่มีการแบ่งแยกด้านชาติพันธุ์และเผ่าพันธุ์อย่างเช่นอัฟกานิสถาน เงินช่วยเหลือมักจะทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาและความไม่ประสงค์ดี และยังทำให้บางเผ่าหรือบางกลุ่มมีอำนาจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามต้องไปหันไปเข้าข้างเดียวกับกลุ่มตาลีบัน
ในจังหวัด Urozgan ทางตอนใต้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานคนหนึ่งบอกกับผมว่า ‘ใน พื้นที่นี้ คนที่เป็นเครือญาติและเพื่อนฝูงกับตระกูลคาร์ไซ (ครอบครัวของประธานาธิบดีแห่งอัฟกานิสถาน – ผู้แปล) จะได้รับผลประโยชน์ทุกอย่าง เงินช่วยเหลือจึงทำให้กลุ่มของพวกเขามีอำนาจมากขึ้น พวกเขาเป็นกลุ่มที่ฉ้อฉลและโหดร้าย แต่ผู้ให้ทุนก็ยังคงสนับสนุนพวกเขาต่อไป’

ผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากเงินช่วยเหลือด้าน การพัฒนา ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ และส่งผลให้รัฐบาลมีความชอบธรรมน้อยลง งานศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถเอาชนะจิตใจของชาวอัฟกานิสถานได้ ไม่ใช่เพราะเราทุ่มเงินลงไปน้อยเกินไป แต่เพราะเราทุ่มเงินลงไปมากเกินไปและเร็วเกินไป โดยเฉพาะในสภาพที่ยังไม่มีความมั่นคง และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินงานตามโครงการน้อยมาก ทั้งไม่มีการกำกับดูแลที่ดีพอ

ที่สำคัญ สาเหตุหลักของปัญหาด้านความมั่นคงที่ชาวอัฟกานิสถานบอกต่อเราในระหว่างการ สัมภาษณ์ ไม่ใช่เรื่องของความยากจนหรือขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ และไม่ใช่กลุ่มตาลีบัน แต่กลับเป็นตัวรัฐบาลที่ฉ้อฉลและไม่สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ในจังหวัด Paktia ซึ่งมีทีมบูรณปฏิสังขรณ์ระดับจังหวัดที่นำโดยสหรัฐฯ และมีการให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาตั้งแต่ปี 2546 ผู้นำอาวุโสของชนเผ่าในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ‘Paktia มีปัญหามากมาย แต่ปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่การขาดแคลนสถานีอนามัย โรงเรียน หรือถนน ปัญหาหลักก็คือเราไม่มีรัฐบาลที่ดี…ถ้าไม่มีรัฐบาลที่สะอาด ก็เท่ากับเงินหลายล้านเหรียญกำลังถูกปล้นไป แม้จะเพิ่มเงินเข้ามาอีกมันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะรัฐบาลก็จะปล้นเงินไปอีกอยู่ดี มีช่องว่างมากขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายความมั่นคงในพื้นที่นี้’

กลุ่มตาลีบันใช้ประโยชน์จากความรู้สึกดังกล่าว และพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการของตนเอง พวกเขาสัญญาว่าจะเร่งรีบทำให้เกิดความมั่นคง ความยุติธรรมที่เร็วขึ้น และให้มีรัฐบาลที่คอร์รัปชั่นน้อยลง แทนที่จะมุ่งสร้างถนน โรงเรียน และสถานีอนามัย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศผู้ให้ทุนอื่นๆ ควรหยุดสนับสนุนโครงการพัฒนาในอัฟกานิสถาน เพียงแต่ว่าการให้ทุนช่วยเหลือจากต่างชาติควรเน้นการส่งเสริมวัตถุประสงค์ ด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาในกรณีที่มีหลักฐานว่าจะสามารถทำเช่นนั้นได้จริง แทนที่จะมุ่งส่งเสริมวัตถุประสงค์ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เป็นปัญหาในพื้นที่นั้น หากไม่มีหลักฐานอื่นๆ ที่สนับสนุน รัฐบาลสหรัฐฯ ควรหยุดตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในโครงการใช้เงินเพื่อเอาชนะจิตใจประชาชน ซึ่งเป็นเพียงความคิดเพ้อฝัน และเกิดจากโมหะคติที่มองว่าสามารถใช้เงินเพื่อซื้อจิตใจของประชาชนชาว อัฟกานิสถานได้”

————————————-

หมายเหตุ
1. อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ใน http://www.boston.com/bostonglobe/editorial_opinion/oped/articles/2009/09/16/a_weapons_system_based_on_wishful_thinking?mode=PF


ปัตตานีเพลส…“เอ็ดดูเคชั่น คอมเพล็กซ์” ที่ชายแดนใต้

November 25, 2009
สถานการณ์แบบนี้…ใครบอกว่าจะมาลงทุนทำธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนฟังต้องคิดในใจว่า “โม้แน่ๆ”
แต่ เรื่องที่ไม่มีใครอยากเชื่อ กำลังจะกลายเป็นความจริงแล้ว เมื่อบริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (DRS DEVELOPMENT CO., LTD) ได้ตัดสินใจระดมทุนร่วม 500 ล้านบาท ทำโครงการ “ปัตตานีเพลส”
โครงการชื่อเก๋ๆ ที่ว่านี้ คือการก่อสร้างศูนย์การค้าและศูนย์กลางการศึกษาขนาดใหญ่ใจกลางเมืองปัตตานี ศูนย์การค้านั้นพอจะนึกภาพออก แต่ศูนย์กลางทางการศึกษาคงต้องอธิบายกันหน่อยว่าไม่ใช่การเปิดมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนในระบบการศึกษาปกติ แต่เป็นการสร้างสถานที่สำหรับเปิดติวและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการศึกษา ทั้งหมดอยู่ในอาคารศูนย์การศึกษานานาชาติซึ่งเป็นหัวใจของโครงการนี้

 

โครงการดังกล่าว เพิ่งมีการจัดเสวนาและนำเสนอโครงการของผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ไปเมื่อปลาย ต.ค.ที่ผ่านมานี้เอง ที่ห้องประชุมเช็คอะหมัด-อัลฟาฏอนียฺ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยมีแผนจะตอกเสาเข็มเริ่มโครงการในต้นปีหน้า และเปิดอย่างอลังการได้ช่วงสิ้นปี
โครงการนี้จะตั้งอยู่บนที่ดินผืนใหญ่ขนาด 10 ไร่ ริมถนนเจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ห่างจาก ม.อ.ปัตตานี เพียงแค่ 200 เมตร ในโครงการจะประกอบด้วย IEC หรือ International Education Center เป็นอาคารสูง 5 ชั้นสำหรับบริการด้านการศึกษานานาชาติแห่งใหม่ในภาคใต้ ประกอบด้วย สถาบันทดสอบทางภาษา เช่น TOEFL, IELT และศูนย์ของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ
นอกจากนั้นยังมีโรงแรมระดับ 4 ดาวชื่อ Pattani Hotel (ปัตตานี โฮเต็ล) ขนาด 60 ห้อง พร้อมห้องสัมมนาขนาดใหญ่ มี Condotel หรือคอนโดมีเนียมจำนวน 4 อาคาร เพื่อบริการที่พักสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ทั้งยังมีโฮมออฟฟิศอีก 13 ยูนิตสำหรับเป็นสถานที่ให้บริการของสถาบันกวดวิชา ร้านค้าอุปกรณ์ทางการศึกษา (Stationary ) และอื่นๆ พร้อมด้วย Hall Outdoor หรือลานกลางแจ้งสำหรับจัดกิจกรรมทางการศึกษา นิทรรศการ และงานแสดงสินค้าอีกด้วย โครงการใหญ่บนถนนสาย ม.อ.

ทวีศักดิ์ มหามะ บอร์ดบริหารโครงการปัตตานีเพลส บอกว่า เขามักมองวิกฤติให้เป็นโอกาส และนั่นคือการตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ที่ปัตตานี “ผมเป็นนักธุรกิจ วันนี้พี่น้องในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบและความรุนแรงในมุมมองของสื่อที่ได้เสนอออกไป ทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูไม่น่าลงทุน เพราะมันน่ากลัว แต่ผมอยากขอเชิญชวนพี่น้องที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยให้มาเยี่ยมปัตตานี ถ้าถามว่าวันนี้ปัตตานีเป็นอย่างไร คำตอบคือเท่าที่ผมได้มาสัมผัส มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว” ทวีศักดิ์ บอกว่า ก่อนจะตัดสินใจลงทุน ได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นอย่างดีแล้ว เพราะทราบดีถึงปัญหาในพื้นที่แห่งนี้

“ก่อนจะทำโครงการเรามีการวิเคราะห์และวิจัยโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางด้าน อสังหาริมทรัพย์ แน่นอนว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือเราต้องดูทำเลที่ตั้ง ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีศักยภาพ แต่สิ่งที่ทำให้เด็กขาดศักยภาพคือโอกาส ขาดโอกาสที่จะเติมเต็ม เราก็หวังที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการต่อไป” “บนถนนเจริญประดิษฐ์ หรือถนนสาย ม.อ.นั้น สามทุ่มยังมีคนพลุกพล่าน ตรงนี้เองที่เรามองว่าดีมานด์สูง (หมายถึงความต้องการซื้อ) แต่ตัวซัพพลาย (ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ) กลับยังไม่มี เราไม่ใช่คู่แข่งขององค์กรอื่นๆ ในภาคธุรกิจ แต่เราพยายามเติมเต็มในส่วนที่ขาดมากกว่า” “ในปัตตานีเพลสจะมี ไออีซี หรือศูนย์การศึกษาในระดับนานาชาติ ซึ่งต่อไปนี้เด็กในพื้นที่สามจังหวัด หากต้องการศึกษาต่อ ก็ไม่ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯแล้ว เพราะที่นี่จะเปิดเป็นสถานที่ทดสอบภาษาอังกฤษ และมีติวเตอร์เพื่อต่อยอดเรื่องการศึกษาในต่างประเทศด้วย” สิ่งที่ ทวีศักดิ์ อธิบายว่าโครงการปัตตานีเพลสเน้นเป็นพิเศษ คือการพัฒนา “ภาษาที่สอง” ให้กับเยาวชนในพื้นที่
“ปัจจุบันเด็กไทยจบปริญญาตรีเยอะ แต่สาเหตุที่ไม่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มมูลค่าเมื่อไปประกอบอาชีพได้ นั่นก็คือภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ โลกปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องใช้ติดต่อกันทั่วโลก ฉะนั้นถ้าเราทิ้งตรงนี้ก็เท่ากับขาดโอกาส รัฐบาลเองต้องกล้าที่จะสนับสนุน และกล้าท้าทายกับสภาพที่เป็นอยู่ วันนี้ปัตตานีเพลสเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐบาลต้องมาขอบคุณและสนับสนุนพวกเรา ภายใต้ความกลัวนั้นยังมีโอกาสอยู่ ถ้าเราไม่ได้เติมเต็มในสิ่งที่ขาด ทุกอย่างก็จบเลย” ตอบโจทย์ธุรกิจ-การศึกษา-บันเทิง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามมากมายถึงที่มาของโครงการอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้ ผศ.นิฟาริศ ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม ม.อ.ปัตตานี ในฐานะที่ปรึกษาด้านวิชาการของโครงการ เล่าว่า แรกเริ่มได้รับข้อเสนอจากนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความคิดจะทำธุรกิจเรื่อง การศึกษา ส่วนตัวคิดว่าน่าจะช่วยได้ เพราะทราบปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดีว่ามาตรฐานของเด็กในพื้นที่นี่ต่ำกว่า เด็กที่อื่นๆ มาก ทำให้บางส่วนที่ทางบ้านมีฐานะการเงินดี จะส่งไปเรียนเพิ่มเติมที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา) และกรุงเทพ ฯ ทำให้เด็กต้องอยู่ไกลบ้าน อาจจะเสียผู้เสียคน ขณะที่เงินที่ต้องส่งเสียก็สูงขึ้น
“ผมเคยทำโครงการติวข้อสอบให้เด็กก่อนเอนทรานซ์ (การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอดีต) มาหลายปี โดยเดินสายติวในพื้นที่สามจังหวัด ยกทีมจาก ม.อ.ร่วม 20 คนไปติว จะเห็นได้ว่าสมัยที่เราติวเด็กกันอย่างเข้มข้น เด็กในพื้นที่ของเราก็สู้ที่อื่นได้ แต่ช่วงหลังพอผมมาเป็นผู้บริหารก็ไม่มีเวลา ทำให้เลิกไป เพราะฉะนั้นความคิดของนักธุรกิจกลุ่มนี้ที่อยากสร้างศูนย์การศึกษาในพื้นที่ ก็ตรงกับสิ่งที่ผมคิดเอาไว้นานแล้ว และผมน่าจะมีประสบการณ์ช่วยเหลือได้ จึงเข้ามาร่วมงาน” “ผมคิดว่าปัตตานีเพลสจะเป็นศูนย์กลางเรื่องพัฒนาการศึกษาของภาคใต้ เราเองก็อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์และอยู่ท่ามกลางปัญหามา 5 ปีแล้ว ยังไม่เคยเจอทางออกที่ดีแบบเลย ฉะนั้นอย่างน้อยถ้าเราบอกว่าเราอยู่ได้และไม่มีอะไรที่น่ากลัว เราสามารถพัฒนาคนได้ ธุรกิจก็เดินหน้า ก็เท่ากับว่าเราได้นับหนึ่งใหม่ โจทย์ในพื้นที่ที่เราต้องแก้ในวันนี้คือโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสทางการศึกษา ถ้าเราเริ่มต้นโครงการได้ก็ถือว่าสามารถจุดประกายอะไรได้บางอย่าง และจะเป็นตัวนำไปสู่ความสงบของภาคใต้ได้อีกทางหนึ่ง”
“ในด้านของผู้ปกครองและตัวเด็กนั้น เมื่อไหร่ที่เด็กมีที่พักสะดวกสบาย และผู้ปกครองเด็กก็รู้สึกมั่นใจว่าเด็กไม่เหลวไหล ไม่หนีออกไปหาแสงสียามค่ำคืน ผมคิดว่าตรงนี้คือคำตอบ ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนถึงหาดใหญ่ ผมเองก็ส่งลูกไปเรียนที่หาดใหญ่ เพราะคิดว่าปัจจุบันถ้าเราไม่เติมความรู้เข้าไป เด็กจะเสียเปรียบแล้วไปสอบสู้คนอื่นไม่ได้เลย ขนาดการเปิดติวที่นำนักวิชาการจากส่วนกลางลงมาในพื้นที่ก็ยังไม่มากพอ เพราะเวลาที่ติวให้เด็กยังน้อยเกินไป”
ผศ.นิฟาริศ กล่าวอีกว่า วงการการศึกษาไทยต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพสังคม ยกตัวอย่างเช่นยาที่หมอให้เรารับประทานนั้น ส่วนใหญ่จะมีรสขม ฉะนั้นยาบางตัวถึงต้องเคลือบน้ำตาลเพื่อให้รับประทานได้ง่าย ถามว่าน้ำตาลมีประโยชน์ไหม คำตอบคือไม่มีประโยชน์ แต่ก็เคลือบเอาไว้เพื่อให้เราทานได้ เหมือนกับการศึกษากับความสนุกสนานต้องเดินไปด้วยกัน
“ผมยังชอบคำของฝรั่งที่เอาคำว่า education (การศึกษา) กับคำว่า entertainment (บันเทิง) มารวมกัน และได้คำว่า Edutainment เพราะทุกคนต้องการเรียนรู้และบันเทิงไปด้วย แต่ความบันเทิงนั้นต้องอยู่ในกรอบที่เราสามารถคุมได้ ไม่ใช่เตลิดเปิดเปิงถึงขึ้นไร้สาระจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมและความ เชื่อทางศาสนาที่มีอยู่” ไม่ใช่ safe sex แต่ต้อง no sex

นอกจากประโยชน์ทางด้านธุรกิจ การศึกษา และบันเทิง ที่จะต้องผสานกันอย่างลงตัวและเหมาะสมแล้ว ผศ.นิฟาริศ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามที่จะต้องคงอยู่ใน พื้นที่นี้ต่อไป
“เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งไปประชุมร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) เขามีโครงการอยู่โครงการหนึ่งที่จะดูแลนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็มีโจทย์ข้อหนึ่งที่คุยกันในที่ประชุม คือเรื่องของ safe sex (การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย) หลายคนบอกว่าเมืองไทยมาถึงจุดนี้แล้ว ผมก็นั่งฟัง และตัวผมเองก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย ผมก็เสนอความคิดไปว่า ในบริบทของปัตตานีจะใช้คำว่า safe sex ไม่ได้เลย ของเราต้อง no sex (หมายถึงห้ามมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวในช่วงที่ยังอยู่ในวัยเรียน) เป็นการถอยลงมาอีกหนึ่งด่าน เพราะอิสลามคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นเรื่องที่ผิดมากๆ”

“เรื่องนี้ถ้าทำได้ก็นับว่าเป็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน ถ้าเราอธิบายให้ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าโครงการที่จะเกิดตรงนี้เป็นอย่างไร (หมายถึงปัตตานีเพลส) เขาก็คงมาร่วมงานกับเรา และถ้าเราทำตรงนี้ให้มีวัคซีนป้องกัน ทุกคนต้องมาหาเราแน่ ฉะนั้นคุณภาพเรื่องการศึกษาต้องดี บวกกับคุณธรรมจริยธรรมของอิสลามเข้าไป ถ้าทำได้จะแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว”

ป่วนใต้ไม่ใช่ปัญหา

ด้าน อดุลย์ หวันสกุล หนึ่งในผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมาร่วมรับฟังการเสนอโครงการ กล่าวว่า เท่าที่ฟังดูก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี และโดยพื้นฐานของเด็กในพื้นที่ก็มีศักยภาพอยู่ในตัว ฉะนั้นโครงการปัตตานีเพลสก็น่าจะเป็นโครงการที่ต่อยอดในเรื่องของการศึกษา สันทนาการ ในกรอบของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม

“ปัตตานีเพลสจะเป็นแหล่งพบปะ และเป็นแหล่งที่ให้ความรู้กับคนทุกกลุ่ม ปัจจุบันในพื้นที่ชายแดนใต้ เด็กๆ ที่สนใจในเรื่องการศึกษายังขาดแคลนสถานที่กวดวิชา ฉะนั้นปัตตานีเพลสจะเป็นคำตอบ” ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่นั้น อดุลย์ มองว่า ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก เพราะที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างห้างค้าปลีกขนาดยักษ์อย่าง “บิ๊กซี” ก็เกิดขึ้นในพื้นที่มาแล้ว เชื่อว่าทางบริษัทที่จะทำโครงการคงทำวิจัยเรื่องการตลาดมาเป็นอย่างดี “ผมยังเชื่อว่าหากปัตตานีเพลสเกิดขึ้นได้จริง จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบได้อีกทางด้วยซ้ำ” อดุลย์ กล่าว

นับเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สวนกระแสทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ใน พื้นที่ ทำให้น่าติดตามว่าในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นได้แค่โครงการในกระดาษ…หรือเกิด ขึ้นได้จริง!

P, Dalam negeri